หลักสูตร การจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต ภาคปกติ

- ชื่อหลักสูตร
- ชื่อปริญญา
- วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
- ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
- ข้อกำหนดของหลักสูตร
- คุณสมบัติของผู้สมัคร
- โครงสร้างหลักสูตร
- คำอธิบายรายวิชา
- เกณฑ์การให้คะแนน
- สถานที่จัดการเรียนการสอน
- ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร
- แนวทางการประกอบอาชีพ
หลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต
Master of Public and Private Management (MPPM)
การจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต | (รอ.ม.)
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร MPPM |
---|
1. เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ในด้านการจัดการทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ และสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับงานของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจ |
2. เพื่อสร้างผู้บริหาร และผู้นำในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่มีคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม |
3. เพื่อส่งเสริมความความเข้าใจ ความร่วมมือระหว่างบุคลากรในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน/ภาคีเครือข่าย ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ทัศนคติ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน |
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร MPPM |
---|
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่ 1: อธิบายแนวคิด และทฤษฎีการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน |
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่ 2: ประยุกต์ใช้ความรู้ และเทคนิคด้าน การจัดการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การภาครัฐและภาคเอกชนโดยยึดหลักคุณธรรม และจริยธรรม |
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่ 3: วิเคราะห์สภาพปัญหา และความท้าทายในการดำเนินงานขององค์การภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง |
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่ 4: พัฒนาสมรรถนะของการเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในการสร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายองค์การ |
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่ 5: พัฒนาข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะจากการวิจัย การค้นคว้าทางวิชาการเพื่อขยายองค์ความรู้ และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งองค์การภาครัฐและภาคเอกชน |
ข้อกำหนดหลักสูตร MPPM |
---|
แผน ก2 (ภาคปกติ) ศึกษารายวิชาทั้งสิ้น 9 วิชาหรือ 27 หน่วยกิต และวิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต รวม 36 หน่วยกิต |
แผน ข (ภาคพิเศษ) ศึกษารายวิชาทั้งสิ้น 12 วิชาหรือ 36 หน่วยกิต และวิชาการค้นคว้าอิสระ 3 หน่วยกิต รวม 36 หน่วยกิต |
คุณสมบัติของผู้สมัครหลักสูตร MPPM |
---|
1. เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือองค์กรที่มีมาตรฐานให้การรับรอง หรือมีวิทยฐานะที่สภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์อนุมัติ ให้เข้าเป็นนักศึกษา |
2. เป็นผู้ไม่มีโรคติดต่อหรือโรคร้ายแรงอย่างอื่นซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา โดยมีใบรับรองจากแพทย์ปริญญาที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ |
3. เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี |
4. ผ่านการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สถาบันกำหนด |
โครงสร้างหลักสูตร MPPM |
---|
หมวดวิชา | แผน ก2 | แผน ข |
หมวดวิชาเสริมพื้นฐาน | (ไม่นับหน่วยกิต) | (ไม่นับหน่วยกิต) |
หมวดวิชาหลัก | 12 หน่วยกิต | 12 หน่วยกิต |
หมวดวิชาเอก | 12 หน่วยกิต | 12 หน่วยกิต |
หมวดวิชาเลือก | 3 หน่วยกิต | 12 หน่วยกิต |
วิชาการค้นคว้าอิสระ | – | 3 หน่วยกิต |
สอบประมวลความรู้ | สอบข้อเขียน | สอบข้อเขียน |
วิทยานิพนธ์ | 12 หน่วยกิต | – |
รวม | 39 หน่วยกิต | 39 หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชาหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต MPPM
สาระสังเขปรายวิชาและข้อกำหนดเกี่ยวกับบุพวิชาต่าง ๆ ของหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต ดังต่อไปนี้
หมวดวิชาเสริมพื้นฐาน
สพ 4000 พื้นฐานสำหรับบัณฑิตศึกษา 3 (3-0-6)
ND 4000 Foundation for Graduate Studies
แนะนำการเมืองและการปกครอง เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย สังคมไทย จริยธรรมของนักบริหาร จริยธรรมทางวิชาการ การพัฒนาบุคลิกภาพ สุขภาพกาย สุขภาพจิต รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การเขียนรายงานทางวิชาการ และเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนา
ภส 4001 การพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับบัณฑิตศึกษา 3 (3-0-6)
LC 4001 Reading Skills Development in English for Graduate Studies
สร้างเสริมความรู้พื้นฐานด้านไวยากรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาทักษะการอ่าน เช่น การศึกษาประเภทของประโยค การหาแกนหลักและส่วนขยายของประโยค เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะการอ่านงานเขียนทางวิชาการ เช่น ตำรา บทความวิชาการ โดยเน้นการพัฒนาทักษะการอ่านเพื่อจับใจความสำคัญ เพื่อหาข้อสรุป การตีความประโยค การเดาความหมายของคำศัพท์จากบริบท การอ่านแบบข้ามเพื่อหาข้อมูลเฉพาะ การหาความสัมพันธ์ของประโยคและย่อหน้าในงานเขียนและการอ่านเชิงวิเคราะห์
ภส 4002 การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแบบบูรณาการ 3 (3-0-6)
LC 4002 Integrated English Language Skills Development
เนื้อหาและกิจกรรมเน้นการบูรณาการทักษะทั้ง 4 ทักษะ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนเชิงวิชาการเบื้องต้น
ภส 4011 การซ่อมเสริมการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับบัณฑิตศึกษา 3 (3-0-6)
LC 4011 Remedial English Language Skills for Graduate Studies
ฝึกทักษะและกลยุทธ์การอ่านภาษาอังกฤษเชิงวิชาการที่นักศึกษาได้ศึกษามาก่อนแล้วในวิชา ภส 4001 การพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับบัณฑิตศึกษา เพิ่มเติม ทั้งนี้นักศึกษาจะได้รับการฝึกฝนในลักษณะเฉพาะบุคคลมากขึ้น
ภส 4012 การซ่อมเสริมการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแบบบูรณาการ 3 (3-0-6)
LC 4012 Remedial Integrated English Language Skills Development
ฝึกทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนเพิ่มเติมและซ่อมเสริมทักษะดังกล่าวสำหรับนักศึกษาที่ยังบกพร่องในการเรียนวิชา ภส 4002 การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแบบบูรณาการ เพื่อปรับปรุงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ด้วยการสอนและฝึกในลักษณะเฉพาะบุคคล
รอ 4000 ความรู้เบื้องต้นทางคอมพิวเตอร์ 3 (3-0-6)
PP 4000 Introduction to Computer Based Information System
ศึกษาความรู้เบื้องต้นด้านคอมพิวเตอร์ และทักษะการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางคอมพิวเตอร์ เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสืบค้นข้อมูลในการจัดทำรายงาน การใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านเว็บ การใช้โปรแกรม สเปรดชีท โปรแกรมการนำเสนอผลงาน โปรแกรมการจัดทำฐานข้อมูล และโปรแกรมทางสถิติเพื่อใช้ในงานวิจัย
หมวดวิชาหลัก
รอ 6000 การบริหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 (3-0-6)
PP 6000 Administration and Sustainable Development
ศึกษาเชิงทฤษฎี แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้บริบทของการเมืองและสังคมไทยและประชาคมโลก โดยให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการทางการเมือง นโยบายสาธารณะ กลไกเชิงสถาบัน และภาคีความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ศึกษาถึงตัวแบบการบริหารการพัฒนา และแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะการพัฒนาตามแนวทางที่สมดุลและเกื้อหนุนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบของการพัฒนาประเทศในระดับสากล
รอ 6001 การวิจัยทางการจัดการ 3 (3-0-6)
PP 6001 Management Research
ศึกษาระเบียบวิธีวิจัยเบื้องต้น แนวคิดเกี่ยวกับแนวทางการวิจัยรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในการวิจัยทางการบริหาร ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการวิจัย ได้แก่ การกำหนดประเด็นปัญหา การทบทวนวรรณกรรม การสร้างกรอบแนวคิด การกำหนดสมมุติฐาน การออกแบบงานวิจัย การกำหนดประชากร การกำหนดกลุ่มตัวอย่าง การสร้างมาตรวัด การเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล ศึกษาและเรียนรู้การทำวิจัยในเชิงลึกเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารการจัดการ โดยพัฒนาทักษะในการทำวิจัย การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการบริหารด้วยการวิจัย การแก้ปัญหาทางการบริหารด้วยการวิจัย รวมไปถึงการนำงานวิจัยไปพัฒนา
รอ 6002 การจัดการภาครัฐและภาคเอกชน 3 (3-0-6)
PP 6002 Public and Private Sector Management
ศึกษาความหมาย แนวความคิด ทฤษฎีว่าด้วยการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน การบริการสาธารณะและธุรกิจของเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน เปรียบเทียบความแตกต่าง ความคล้ายคลึง ความสัมพันธ์เชื่อมโยง การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การจัดการภาครัฐแนวใหม่ การปฏิรูประบบราชการ แนวคิดการนำเทคนิคการบริหารจากภาคเอกชนมาใช้ในภาครัฐ และแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่
รอ 6003 องค์การสมัยใหม่ 3 (3-0-6)
PP 6003 Modern Organization
ศึกษาทฤษฎีและแนวคิดเรื่ององค์การเพื่อใช้ในการวิเคราะห์องค์การ โดยครอบคลุมแนวคิดและรูปแบบองค์การสมัยใหม่ วัฒนธรรมองค์การ และการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงองค์การ ศึกษาโครงสร้างองค์การรูปแบบต่าง ๆ และปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อประสิทธิผลในการทำงานขององค์การ เช่น สภาพแวดล้อม กลยุทธ์ และเทคโนโลยี ศึกษาพฤติกรรมขององค์การ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลและกลุ่ม ซึ่งได้แก่ ทฤษฎีแรงจูงใจ ภาวะผู้นำ และพฤติกรรมกลุ่ม รวมทั้งแนวคิดพื้นฐานเรื่องการจัดการ
หมวดวิชาเอก
รอ 7000 การจัดการเชิงกลยุทธ์และนโยบายสาธารณะ 3 (3-0-6)
PP 7000 Strategic Management and Public Policy
ศึกษาความหมาย แนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะและการจัดการกลยุทธ์ รวมถึงภารกิจ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ขององค์การ ระบบ และกระบวนการวางแผน ตั้งแต่การจัดการแผนกลยุทธ์จนถึงแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน การวิเคราะห์และการปรับแผนและการบริหารแผนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม โดยศึกษากรณีศึกษาการจัดการเชิงกลยุทธ์ของภาครัฐและภาคเอกชน
รอ 7001 การบริหารและการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อความเป็นเลิศ 3 (3-0-6)
PP 7001 Human Capital Management and Development for Excellence
ศึกษาการบริหารและการพัฒนาทุนมนุษย์ในภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่การวิเคราะห์งาน การวางแผนกำลังคน การสรรหาคัดเลือก การพัฒนา การให้รางวัลและสร้างแรงจูงใจ การพัฒนาอาชีพ และสวัสดิการ รวมถึงการจัดการผลการปฏิบัติงาน และครอบคลุมบทบาทของผู้จัดการทรัพยากรมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งทิศทางและแนวโน้มการจัดการทุนมนุษย์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
รอ 7002 การจัดการการเงินสำหรับนักบริหาร 3 (3-0-6)
PP 7002 Financial Management for Executive
บทบาทและความสำคัญของตลาดการเงินต่อภาคธุรกิจ ความสำคัญของการบริหารการเงินขององค์กรทั้งภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล การบริหารแหล่งที่มาของเงินทุนทางธุรกิจ การระดมทุนจากมหาชนด้วยตราสารทุน ตราสารหนี้ และตราสารทางการเงินรูปแบบต่างๆ หลักการวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อประเมินผลทางการเงินของภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล รวมทั้งหลักการบริหารการลงทุน การวิเคราะห์การลงทุนในโครงการธุรกิจ การลงทุน และการบริหารความเสี่ยงการลงทุนในหลักทรัพย์ ศึกษาการบริหารการเงินเชิงกลยุทธ์ และการวางแผนทางการเงินเพื่อความสำเร็จ การบริหารการเงินในระยะสั้น รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ นอกจากนี้บูรณาการเชิงกลยุทธ์บัญชีกับการจัดการการเงิน การวางแผน การควบคุม และการตัดสินใจ การวิเคราะห์งบการเงิน งบกำไรขาดทุน การจัดทำงบประมาณลงทุน
รอ 7003 การจัดการการตลาดสำหรับนักบริหาร 3 (3-0-6)
PP 7003 Marketing Management for Executive
ศึกษาแนวคิดกลยุทธ์ในการกำหนดนโยบายทางด้านการตลาด ว่าด้วยเรื่อง ราคา สถานที่ การส่งเสริม ทั้งนี้ภายใต้การพิจารณาถึงตลาดการค้าในประเทศระหว่างภาครัฐและเอกชน และตลาดการค้าต่างประเทศซึ่งรวมถึงการศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภค ผลกระทบจากกฎหมายต่างๆ และข้อกำหนดต่างๆ ขององค์การการค้าโลก และ FTA ที่มีต่อการตลาดของไทย ตลอดจนเทคนิคของการบริหารการตลาดตามสถานการณ์ผันแปรต่างๆ
หมวดวิชาเลือก
รอ 7101 เศรษฐศาสตร์สำหรับการจัดการ 3 (3-0-6)
PP 7101 Economics for Management
ศึกษาองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐบาล ภาคต่างประเทศ และภาคการเงิน ตลาดการเงิน ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และเครื่องมือของนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ศึกษาเป้าหมายของการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศ ศึกษาหลักเศรษฐศาสตร์สำหรับตัดสินใจทางธุรกิจ กลไกตลาด อุปสงค์ อุปทานของสินค้าบริการ และกลไกราคา การผลิต ต้นทุน และเป้าหมายของการจัดการธุรกิจ
รอ 7102 การจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี 3 (3-0-6)
PP 7102 Innovation Management and Technology
ศึกษาแนวคิด/ทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมยุคดิจิตอล รวมทั้งการศึกษากระบวนการจัดการนวัตกรรมที่ช่วยให้หน่วยงานสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนำเสนอแนวทางการปรับปรุง เสริมแต่ง และพัฒนาอย่างเป็นระบบด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ ในการจัดการนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการบูรณาการ แก้ไขปัญหาการทำงานสร้างความได้เปรียบและโอกาสในการแข่งขัน
รอ 7103 การบัญชีเพื่อการจัดการ 3 (3-0-6)
PP 7103 Managerial Accounting
ศึกษาการบัญชีกับผู้บริหาร การใช้ข้อมูลทางการบัญชีเกี่ยวกับต้นทุน เพื่อการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และกำไร พฤติกรรมต้นทุน การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ และกำไร ต้นทุนมาตรฐานและการวิเคราะห์ผลต่างของต้นทุนการผลิต ต้นทุนฐานกิจกรรม การใช้สาสนเทศทางการบัญชีเพื่อการวางแผน ควบคุม และการตัดสินใจ งบประมาณลงทุน การงบประมาณ การบัญชีตามความรับผิดชอบ การรายงาน และการวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน
รอ 7104 การจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต 3 (3-0-6)
PP 7104 Risk and Crisis Management
ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และความเชื่อมโยงของการจัดการความเสี่ยงและการจัดการภาวะวิกฤต รวมถึงการวิเคราะห์ตัวอย่างจากกรณีศึกษาพร้อมเสนอแนวทางการพัฒนาการจัดการความเสี่ยงและการจัดการภาวะวิกฤต
หมวดวิชาการสัมมนา/ฝึกงาน/การศึกษาตามแนวแนะ
รอ 8800 การฝึกงาน 3 (0-9-3)
PP 8800 Internships
มุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจและพัฒนาตนเองนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ทั้งในด้านความคิด การตัดสินใจ การวิเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ การแก้ไขปัญหาต่างๆ และได้รับประสบการณ์จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ
รอ 8900 การศึกษาตามแนวแนะ 3 (0-0-12)
PP 8900 Directed Studies
เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โดยนักศึกษารวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องที่น่าสนใจภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ โดยเรื่องที่เลือกศึกษาจะเป็นการเขียนกรณีศึกษา การจัดการภาครัฐและภาคเอกชนในด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการศึกษาปัญหาทางการบริหารและนำเสนอกระบวนการแก้ปัญหา หรือศึกษาเพื่อพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จทางการบริหาร หรือนำตัวแบบที่น่าสนใจจากการเรียนรู้จากหลักสูตรไปประยุกต์กับกรณีทางการบริหารที่เป็นจริง ซึ่งในการศึกษาวิชานี้นักศึกษาสามารถกำหนดประเด็นด้วยความคิดริเริ่มร่วมกันของกลุ่ม
รอ 8901 สัมมนาเพื่อการพัฒนาผู้นำภาครัฐและภาคเอกชน 3 (3-0-6)
PP 8901 Seminar for Leadership Development in Public and Private Sector
สัมมนาเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาภาวะผู้นำ กฎหมายสำหรับการจัดการ และประเด็นสำคัญในการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ คุณลักษณะ คุณสมบัติ บทบาทอำนาจหน้าที่ของภาวะผู้นำยุคใหม่ โดยเนื้อหาของการเรียนรู้ เกี่ยวข้องกับ การบริหารจัดการองค์การ พฤติกรรมของผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินการต่างๆ ขององค์การ ความสามารถในการคิดและมองการณ์ไกลถึงผลกระทบ การสร้างแรงจูงใจ และการแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ ศึกษาแนวความคิดทฤษฎีว่าด้วยความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป แนวความคิด เนื้อหา ประเด็น เงื่อนไข และหลักเกณฑ์กฎหมายสารบัญญัติอันเป็นกฎหมายหลักที่เป็นพื้นฐานหรือเกี่ยวกับธุรกิจ ทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายประมวลรัษฎากรและกฎหมายแรงงาน และศึกษาประเด็นสำคัญในการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน
หมวดวิชาการค้นคว้าอิสระ
รอ 9000 การค้นคว้าอิสระ : การประยุกต์ความรู้สู่การปฏิบัติ 3 (0-0-12)
PP 9000 Independent Study : Combination of Practical and Theoretical Knowledge
ศึกษาวิจัยปรากฏการณ์หรือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการบริการของภาครัฐและภาคเอกชนโดยใช้กรอบความคิดที่เคยศึกษามาในหลักสูตร โดยมุ่งหมายให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการวิจัยทางการบริหารและจัดทำรายงานทางการศึกษาอย่างมีมาตรฐานหรือการใช้หลักวิชาเพื่อวิเคราะห์และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในการบริหารของหน่วยงานในเชิงประยุกต์ วิชานี้มีบุพวิชาคือ รอ 6001 การวิจัยทางการบริหาร
หมวดวิชาวิทยานิพนธ์
รอ 9004 วิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต
PP 9004 Thesis
เทียบเป็นรายวิชาไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา
ศูนย์การศึกษาในที่ตั้ง |
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เลขที่ 148 ถนน เสรีไทย แขวง คลองจั่น เขต บางกะปิ กรุงเทพ ฯ 10240 |
ค่าใช้จ่ายหลักสูตร MPPM |
---|
เรียนในเวลาราชการ : หน่วยกิตละ 1,500 บาท (ตลอดหลักสูตร 97,000 บาท)
หมายเหตุ: รวมค่าหนังสือและเอกสารประกอบการสอน ค่าบำรุงห้องสมุด ค่าเทคโนโลยีสารสนเทศ ค่าใช้จ่ายในการศึกษาดูงานภายในประเทศ
แนวทางการประกอบอาชีพหลักสูตร MPPM |
---|
1. ผู้บริหารที่สังกัดอยู่ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน |
2. นักการเมืองและข้าราชการทางการเมือง |
3. บุคลากรในหน่วยงานราชการและภาคเอกชน |
4. อาจารย์และนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ |
5. ข้าราชการทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง |
6. อาชีพอิสระอื่น ๆ |