การทำวิจัยและตีพิมพ์บทความใน Scopus โดย Dr. Rowena C. Alcoba

สรุปการบรรยายหัวข้อ
“How to Conduct Research and Publish in Scopus Journals
การทำวิจัยและตีพิมพ์บทความใน Scopus”
โดย Dr. Rowena C. Alcoba
วันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2565
การบรรยายครอบคลุมหัวข้อ ดังนี้ 1) การหาหัวข้อการวิจัย 2) การเขียนคำถามวิจัย 3) การดำเนินการวิจัย และ 4) แนวทางการตีพิมพ์บทความใน Scopus
วิธีการหาหัวข้อวิจัยมี ดังนี้ สำรวจวรรณกรรมอย่างรวดเร็ว เพื่อค้นหาช่องว่างซึ่งนักศึกษาสามารถที่จะศึกษาได้ และให้ค้นหาสาขาที่สนใจหรือได้รับการแนะนำให้ค้นคว้าจากผู้เชี่ยวชาญ หรือเนื้อหาในสาขาที่มีการศึกษาและวรรณกรรมจำนวนไม่มากนัก ส่วนคุณลักษณะของหัวข้อการวิจัยที่ดีควรมี 7 ประการ ดังต่อไปนี้
1) ตรงกับลักษณะวิชาที่ศึกษาในหลักสูตร
2) นักศึกษาสามารถดำเนินการตามกรอบเวลาและทรัพยากรที่ตนมี
3) เป็นหัวข้อที่นักศึกษาสนใจและประสงค์จะดำเนินการวิจัยนั้น
4) ควรสอดคล้องกับเป้าหมายในเชิงวิชาชีพของนักศึกษา
5) สามารถเข้าถึงข้อมูลสำหรับการวิจัยนั้น
6)หัวข้อควรมีประเด็นซึ่งเชื่อมโยงกับทฤษฎีอย่างชัดเจน
7) หัวข้อสอดรับกับคำถามและวัตถุประสงค์การวิจัยอย่างชัดเจน
ส่วนการเขียนคำถามการวิจัยนั้นควรจะต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
1) ทดสอบวิธีที่เรียกว่า Goldilocks Test
2) ควรสร้างองค์ความรู้และ “การหยั่งรู้” ใหม่ๆ
3) ไม่ควรจะเป็นหัวข้อที่ง่ายหรือยากเกินไป หรือไม่ควรจะเป็นหัวข้อที่มีคำตอบก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนการเขียนวัตถุประสงค์การวิจัยนั้นเป็นเป้าประสงค์และทิศทางสำหรับการวิจัย ทั้งนี้คำถามการวิจัยแต่ละคำถามควรจะมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยซึ่งสอดคล้องกัน
ในการดำเนินการวิจัย นักศึกษาควรมุ่งที่จะค้นพบสิ่งที่ลึกซึ้งหรือเป็นความก้าวหน้าที่ลึกซึ้ง โดยในขั้นตอนแรก นักศึกษาจะต้องมีลักษณะเตรียมการวิจัยด้วยการทบทวนวรรณกรรมมากๆ มีความคิดริเริ่ม และมีผลการค้นพบ หรือการหยั่งรู้ที่มีลักษณะก้าวหน้าอย่างแท้จริง ขั้นที่สอง ผู้วิจัยเตรียมเครื่องมือวิจัยในระเบียบวิธีวิจัย เช่น เครื่องมือเชิงปริมาณหรือคุณภาพ เตรียมการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ อภิปรายผล สรุปและข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
วิธีการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ใน Scopus นั้น ในลำดับแรกนักศึกษาควรจะรู้จักวารสารที่ตนจะส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ นำเสนอสาระที่มีจุดเน้น สร้างกรอบที่มีตรรกะ ต้องตระหนักรู้ถึงวรรณกรรมวิชาการในสาขาของตนและอ้างอิงวรรณกรรมนั้น และมีลักษณะริเริ่ม จุดที่สำคัญคือบทความต้องมีความชัดเจน โดยใช้ภาษาที่ชัดเจน เขียนสื่อสารกับผู้อ่านทั่วโลก และเขียนด้วยความมั่นใจ
สรุปโดย: รศ.ดร.บุญอนันต์ พินัยทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ | Ph.D. (Public Administration)
ท่านสามารถรับชมการบรรยายได้ที่: https://youtu.be/Cy7pDlrSLPM